เปิดภาพ “ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี” เสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ ส่งท้ายปี 2564

เปิดภาพ “ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี” เป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ ส่งท้ายปี 2564 ท่ามกลางลมหนาวเย็น

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีผู้ปกครองพาบุตรหลาน เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ และประชาชนทั่วไป ไปชมปรากฏการณ์เหนือท้องฟ้าช่วงค่ำพระอาทิตย์ตกดินไปจนถึงช่วง 2 ทุ่ม ชมดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง 7 ตัว ให้บริการส่องดูดาว ซึ่งมองเห็นเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ อยู่ในระยะวงโคจรใกล้ดวงจันทร์ที่มีลักษณะเป็นเสี้ยวเหมือนกัน ส่องแสงสว่างโดดเด่นอยู่บนท้องฟ้า สร้างความประทับใจแก่เด็กๆ และนักท่องเที่ยวท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น ท้องฟ้าโปร่ง มองเห็นดาวศุกร์และดวงจันทร์ชัดเจน นอกจากนี้ยังสามารถส่องกล้องโทรทรรศน์มองเห็นดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ที่อยู่ในวงโคจรใกล้เคียงกันอีกด้วย

จุดสังเกตการณ์ที่หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

จุดสังเกตการณ์ที่หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

เช่นเดียวกับ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พบว่า ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้พากันไปชมความสวยงามของดาวศุกร์ ที่ปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี (The Greatest Brilliancy) หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ซึ่งท้องฟ้าปลอดโปร่ง มองเห็นดาวศุกร์สว่างสุกใส เปล่งประกายชัดเจนทางทิศตะวันตก ท่ามกลางอากาศเย็นสบายในช่วงหัวค่ำ

จุดสังเกตการณ์ที่หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

จุดสังเกตการณ์ที่หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยว่า ช่วงค่ำวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี สว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น.

ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่นๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

สำหรับ ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือเวลากลางดึก หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”.