ความหมายของมงคล 38 ภาษาบาลี พร้อมคำแปล มีอะไรบ้าง?
มงคล 38 คือ มูลเหตุแห่งความสุข จำนวน 38 ข้อ ที่ช่วยส่งเสริมความสุข และความก้าวหน้า ทำให้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มงคลชีวิต 38” ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่พึ่งพาปาฏิหาริย์แต่อย่างใด ทว่าเป็นหลักปฏิบัติง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน
ส่วนที่มาของมงคล 38 เล่าสืบต่อกันว่าสมัยพุทธกาล ชาวเมืองต่างพากันพูดคุยว่า “สิ่งใดที่ทำให้ชีวิตเป็นมงคล?” แม้แต่เทวดาก็สนทนากันถึงประเด็นนี้ แต่ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่า คุณธรรมข้อใดที่จะทำให้ชีวิตเป็นมงคล
เทวดาองค์หนึ่งจึงเดินทางไปทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้แสดงหลักธรรมอันเป็นมงคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการยึดติดวัตถุใดๆ แต่เป็นการยึดถือปฏิบัติตนเองตามทำนองคลองธรรม อันประกอบด้วย ข้อปฏิบัติมงคลจำนวน 38 ประการ ดังนี้
1. การไม่คบคนพาล
บาลี : อเสวนา จ พาลานํ (อะเสวะนา จะ พาลานัง)
ความหมาย : ไม่คบผู้ที่ชักจูงไปในทางที่ผิด และโง่เขลาเบาปัญญา เพราะมีแต่จะทำให้ชีวิตเสื่อม
2. การคบบัญฑิต
บาลี : ปณฑิตานญฺจ เสวนา (ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา)
ความหมาย : คบผู้มีความรู้ ความคิดที่ดี การปฏิบัติตนที่ดี เพื่อจะได้รับการชี้แนะแต่เรื่องอันเป็นมงคล
3. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
บาลี : ปูชา จ ปูชนียานํ (ปูชา จะ ปูชะนียานัง)
ความหมาย : การเชิดชูผู้ประพฤติดี และผู้มีพระคุณ เป็นการลดทิฐิของตนเอง ไม่สักการบูชาในสิ่งที่ไม่เป็นมงคล
4. การอยู่ในถิ่นอันสมควร
บาลี : ปฏิรูปเทสวาโส จ (ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ)
ความหมาย : พาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แวดล้อมไปด้วยบัณฑิตทั้งทางโลก และทางธรรม
5. การเคยทำบุญมาก่อน
บาลี : ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา)
ความหมาย : ฝึกชำระล้างจิตใจ สั่งสมอานิสงส์ ความดี ความสุข ทุกการกระทำส่งผลต่อปัจจุบันและอนาคต
6. การตั้งตนชอบ
บาลี : อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ)
ความหมาย : วางตนอย่างเหมาะสมในการดำรงชีพ และประกอบสัมมาอาชีพ
7. ความเป็นพหูสูต
บาลี : พาหุสจฺจญฺจ (พาหุสัจจัญจะ)
ความหมาย : เป็นผู้ที่สดับรับฟังมาก จึงมีความรู้ มีปัญญา ในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ อย่างถูกวิธี
8. การรอบรู้ในศิลปะ
บาลี : สิปฺปญฺจ (สิปปัญจะ)
ความหมาย : มีความรู้ในการใช้มือปฏิบัติการงานต่างๆ สามารถประกอบวิชาชีพได้ ชีวิตไม่อับจน
9. การมีวินัยที่ดี
บาลี : วินโย จ สุสิกฺขิโต (วินะโย จะ สุสิกขิโต)
ความหมาย : ปฏิบัติตนตามระเบียบ และกฎเกณฑ์ของสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
10. การกล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
บาลี : สุภาสิตา จ ยา วาจา (สุภาสิตา จะ ยา วาจา)
ความหมาย : พูดดี ไม่เหลวไหล เปล่งวาจาอันเป็นมงคล ทั้งทางโลกและทางธรรม
11. การบำรุงบิดามารดา
บาลี : มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ (มาตาปิตุอุปัฏฐานัง)
ความหมาย : เลี้ยงดูบิดา มารดา กล่าวยกย่องสรรเสริญผู้มีพระคุณ เป็นมงคลชีวิตที่ทำให้เจริญก้าวหน้า
12. การสงเคราะห์บุตร
บาลี : ปุตฺตสงฺคโห (ปุตตะสังคะโห) แยกมาจาก ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห (ปุตตะทารัสสะ สังคะโห)
ความหมาย : เลี้ยงดูบุตรให้ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดี ได้รับการศึกษา บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม
13. การสงเคราะห์ภรรยา
บาลี : ทารสงฺคโห (ทาระสังคะโห)
ความหมาย : เลี้ยงดูภรรยาให้ดี กล่าวยกย่อง ไม่ดูหมิ่น สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
14. การทำงานไม่ให้คั่งค้าง
บาลี : อนากุลา จ กมฺมนฺตา (อะนากุลา จะ กัมมันตา)
ความหมาย : ทำงานทั้งทางโลก และทางธรรมให้สำเร็จสมบูรณ์ ไม่เห็นแก่ตัว และประโยชน์ส่วนตน
15. การให้ทาน
บาลี : ทานญฺจ (ทานัญจะ)
ความหมาย : ฝึกจิตให้เป็นผู้มีความเสียสละ ลดความเห็นแก่ตัว ไม่ทุจริตในสิ่งของที่ไม่ชอบธรรม
16. การประพฤติธรรม
บาลี : ธมฺมจริยา จ (ธัมมะจะริยา จะ)
ความหมาย : ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ยกระดับจิตใจให้สูงด้วยศีล และธรรมะ
17. การสงเคราะห์ญาติ
บาลี : ญาตกานญฺจ สงฺคโห (ญาตะกา นัญจะ สังคะโห)
ความหมาย : ให้ความช่วยเหลือญาติพี่น้องตามกำลัง สงเคราะห์ญาติเมื่อเดือดร้อน
18. การทำงานที่ไม่มีโทษ
บาลี : อนวชฺชานิ กมฺมานิ (อะนะวัชชานิ กัมมานิ)
ความหมาย : ทำงานหาเลี้ยงตน โดยต้องเป็นงานที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี และศีลธรรมอันดี
19. การละเว้นจากบาป
บาลี : อารตี วิรตี ปาปา (อาระตี วิระตี ปาปา)
ความหมาย : บาปคือสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นมงคล ทำแล้วรู้สึกไม่สบายใจ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
20. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
บาลี : มชฺชปานา จ สญฺญโม (มัชชะปานา จะ สัญญะโม)
ความหมาย : ดื่มของมึนเมาแล้วไม่สามารถควบคุมตนได้ ย่อมนำมาซึ่งการเสียทรัพย์ เสียสติสัมปชัญญะ
21. การไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
บาลี : อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ)
ความหมาย : เป็นผู้มีสติพร้อม ไม่ประมาท ไม่หุนหันพลันแล่น ปฏิบัติตนในทางที่ดี
22. การมีความเคารพ
บาลี : คารโว จ (คาระโว จะ)
ความหมาย : ให้ความเคารพในบุคคลที่ควรแก่การเคารพ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผู้คนจะสรรเสริญ
23. การมีความถ่อมตน
บาลี : นิวาโต จ (นิวาโต จะ)
ความหมาย : มีมารยาท สงบเสงี่ยม ไม่หยิ่งผยองตน จะทำให้ไม่เสียคน และไม่เสียมิตร
24. การมีความสันโดษ
บาลี : สนฺตุฏฺฐี จ (สันตุฏฺะฐี จะ)
ความหมาย : พึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมี ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ยินดีตามกำลังทรัพย์ของตน
25. การมีความกตัญญู
บาลี : กตญฺญุตา (กะตัญญุตา)
ความหมาย : เป็นผู้รู้คุณ รู้จักตอบแทนบุญคุณผู้ที่มีพระคุณ และมีผู้ที่เมตตาในยามเดือดร้อน
26. การฟังธรรมตามกาล
บาลี : กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง)
ความหมาย : เมื่อมีโอกาสให้ฟังธรรมะ คิดทบทวนถึงประโยชน์แห่งหลักธรรม แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
27. การมีความอดทน
บาลี : ขนฺตี จ (ขันตี จะ)
ความหมาย : เป็นผู้มีความอดทนต่อความยากลำบาก และอดทนต่อกิเลส และความโลภ
28. การเป็นผู้ว่าง่าย
บาลี : โสวจสฺสตา (โสวะจัสสะตา)
ความหมาย : เป็นคนที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ทำตัวกลบเกลื่อนความผิดของตน พร้อมปรับปรุงตัว
29. การได้เห็นสมณะ
บาลี : สมณานญฺจ ทสฺสนํ (สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง)
ความหมาย : สำหรับผู้ที่อยู่ในสมณเพศ ต้องเป็นผู้ที่สงบกาย วาจา และใจ
30. การสนทนาธรรมตามกาล
บาลี : กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา)
ความหมาย : แลกเปลี่ยนสาระความรู้กับผู้อื่น พูดด้วยวาจาที่ไม่โอ้อวด และมีความรู้จริงในสิ่งที่พูด
31. การบำเพ็ญตบะ
บาลี : ตโป จ (ตะโป จะ) ตบะ
ความหมาย : ฝึกปฏิบัติตนให้กิเลสหมดไป สำรวมกายใจ ไม่ยึดติดในสัมผัสภายในนอกเกินไป
32. การประพฤติพรหมจรรย์
บาลี : พฺรหฺมจริยญฺจ (พรัหมะจะริยัญจะ)
ความหมาย : ผู้บวชให้ละเว้นจากการเสพเมถุน ส่วนฆราวาสให้ยึดปฏิบัติโดยการให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่นตามสมควร และรักษาศีล
33. การเห็นอริยสัจ
บาลี : อริยสจฺจานทสฺสน (อะริยะสัจจานะทัสสะนะ)
ความหมาย : เห็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ อริยสัจ 4 อันเป็นมูลเหตุแห่งการเกิดทุกข์ และวิธีทำให้ทุกข์หมดไป
34. การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
บาลี : นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ (นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ)
ความหมาย : ปฏิบัติตน ใช้หลักธรรมดับทุกข์ และความไม่สบายใจ ระลึกถึงคุณแห่งพระนิพพาน
35. การมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
บาลี : ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปต (ผุฏฺฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะตะ)
ความหมาย : ฝึกจิตใจตนให้ไม่หลงในลาภ ยศ และการสรรเสริญเยินยอ
36. การมีจิตไม่เศร้าโศก
บาลี : อโสกํ (อะโสกัง)
ความหมาย : การพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ใช้ปัญญาพิจารณาความเศร้า และความอาลัยอาวรณ์
37. การมีจิตปราศจากกิเลส
บาลี : วิรชํ (วิระชัง)
ความหมาย : ฝึกปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากกิเลส และสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
38. การมีจิตเกษม
บาลี : เขมํ (เขมัง)
ความหมาย : รักษาไว้ซึ่งสภาพที่มีจิตใจเป็นสุข ละแล้วซึ่งกิเลส ไม่ยินดีในวัตถุ ในภพ ในอวิชชาทั้งหลาย
มงคล 38 เป็นหลักปฏิบัติที่เรียบง่าย สามารถปฏิบัติตามหลักอันเป็นมงคลชีวิตได้ด้วยตัวเอง หากพิจารณามงคล 38 ประการแล้ว จะเห็นว่า ทุกข้อล้วนเกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อมิตร ครอบครัว และสังคม ซึ่งเป็นหลักธรรมเบื้องต้นที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงผู้ที่ปฏิบัติธรรมก็สามารถยึดมงคลชีวิต 38 ในการฝึกตนเองได้อีกด้วย