พระนางจามเทวี ประวัติและความเชื่อขอพรเรื่องความรัก

พระนางจามเทวี เป็นตำนานพื้นบ้านที่ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำปี พ.ศ.2554 เป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐานของคนไทยภาคเหนือหลายจังหวัด อาทิ ลำพูน ลำปาง ซึ่งในอดีตมีชื่อว่า เขลางค์นคร เป็นเมืองคู่แฝดของอาณาจักรหริภุญไชย

ประวัติพระนางจามเทวี

ประวัติของพระนางจามเทวี มีกล่าวถึงในพงศาวดาร ศิลาจารึกต่างๆ ถือเป็นตำนานมูลศาสนาที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในประเทศไทยตอนเหนือด้วย เรื่องเล่าของพระนางจามเทวีเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองหริภุญไชยเกิดจากความทรงจำของชาวท้องถิ่นที่เล่าต่อกันมา ตำนานของพระนางจามเทวีถูกเล่าแตกต่างออกไป ได้แก่

พระนางจามเทวีเป็นลูกชาวบ้านที่ไปศึกษาเมืองละโว้

ตำนานประวัติพระนางจามเทวีบางแห่งเล่าว่า พระนางจามเทวีเป็นลูกสาวชาวบ้านที่เกิดในจังหวัดลำพูน และไปศึกษาที่เมืองละโว้ จนได้กลับไปครองเมืองหริภุญไชย การเล่านี้เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังพบในวัดต่างๆ ของจังหวัดลำพูน

พระนางจามเทวีเป็นพระธิดาเมืองละโว้

ตำนานพระนางจามเทวีฉบับพระปริยัติธรรมธาดา เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์สถานที่ประดิษฐานพระเสรีธาตุ เล่าว่า ฤาษีวาสุเทพ กับฤาษีสุกกทันต์ สร้างเมืองหริภุญไชยนคร ฤาษีสุกกทันต์ขอพระนางจามเทวีธิดาของเมืองละโว้ไปปกครองเมืองหริภุญไชย ต่อมามีพระยามิลักขุหวังจะยึดนครหริภุญไชย สองกุมารของพระนางจามเทวีจึงต่อสู้ขยายอาณาจักร และได้สร้างเมืองเขลางค์นคร หรือเมืองลำปาง ในปัจจุบันนี้

เว็บไซต์นครลำปาง กล่าวถึงตำนานพระนางจามเทวีว่า ราวปี พ.ศ.1200 ที่ฤาษีวาสุเทพ และฤาษีสุกกทันต์ สร้างเมืองนครหริภุญไชย เจ้าเมืองละโว้ได้พระราชทานพระธิดามาปกครองเมือง ขณะนั้นพระนางตั้งพระครรภ์แฝด และได้นำแพทย์ บัณฑิต ช่างฝีมือ เศรษฐี คหบดี อย่างละ 500 คน ติดตามมาด้วย จึงเป็นเมืองที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านต่างๆ และเจริญด้านพระพุทธศาสนา พระนางประสูติกาลพระโอรสแฝด คนพี่คือ “เจ้ามหันตยศกุมาร” ได้ครองเมืองหริภุญไชย ผู้น้องคือ “พระอันตยศกุมาร” เป็นพระอุปราช ต่อมาพระอันตยศกุมารได้ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าเมืองเขลางค์นคร

อาณาเขตของอาณาจักรหริภุญไชยส่วนใหญ่คือพื้นที่จังหวัดลำพูน มีอายุกว่า 1,300 ปี ข้อมูลจากเว็บไซต์จังหวัดลำพูนอ้างอิงตำนานจามเทวีฉบับที่พระนางจามเทวีเป็นธิดาเมืองละโว้ ถูกฤาษีวาสุเทพเชิญมาปกครองเมืองหริภุญไชยที่สร้างึข้นระหว่างแม่น้ำกวง และแม่น้ำปิง พระนางจามเทวีเป็นปฐมกษัตริย์ และภายหลังได้ตกเป็นเมืองภายใต้ปกครองของอาณาจักรล้านนาโดยเจ้าขุนเม็งรายมหาราช ภายหลังรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในยุคพระเจ้าตากสินมหาราช

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เจ้าของนครองค์สุดท้ายคือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมแล้วจึงเปลี่ยนสถานะเมืองลำพูนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

พระนางจามเทวี ขอพรเรื่องอะไร

พระนางจามเทวี ประวัติและความเชื่อขอพรเรื่องความรัก

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูน ห่างจากศาลาว่าการ 1 กิโลเมตร พระนางจามเทวีถือว่าเป็นสตรีที่มีรูปโฉมงดงาม และมีความเฉลียวฉลาด เป็นนักปราญช์ปกครองเมือง และสืบสานพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบเหนือของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนมักมาขอพรเรื่องโชคลาภ หน้าที่การงาน และขอพรเรื่องความรัก

นอกจากการขอพรเรื่องความรักที่อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี และอนุสรณ์สถานต่างๆ ยังมี “กู่ช้าง” ที่เชื่อว่าเป็นที่ฝังร่างช้างทรงคู่บารมีพระนางจามเทวี กู่ช้างนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลกู่ช้าง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีรูปปั้น ปู้ก่ำงาเขียว เชื่อว่าใครได้ลอดท้องช้างจะเป็นสิริมงคลต่อชีวิต