รู้จัก “เบญจเพส” คืออะไร อายุเท่าไรบ้าง

เบญจเพส คือความเชื่อที่ฝังรากลึกมานานในสังคมไทย กล่าวถึงคนอายุ 25 ปี ที่อาจประสบเคราะห์บางอย่างที่ส่งผลต่อชีวิตทั้งหมด แต่บางความเชื่อก็ไม่ได้ระบุตายตัวว่าต้องเป็นผู้ที่อายุ 25 ปีเท่านั้น อาจรวมถึงอายุที่ลงท้ายด้วยเลข 5 ตั้งแต่ 15, 25, 35 ปี ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในชีวิต

เบญจเพส คืออะไร มีความเชื่ออะไรบ้าง

คำว่า “เบญจเพส” มาจากคำภาษาบาลี “ปญฺจวีส” หรือภาษาสันสฤต “ปญฺจวิษฺต” โดย ปัญจะ หมายถึง ห้า และ วีส หมายถึง ยี่สิบ รวมกันหมายถึง ยี่สิบห้า 

ความเชื่อเรื่องเบญจเพส คนไทยโบราณเชื่อว่า หากอายุถึงรอยต่อ 25, 35, 45, 55, 65 จะเป็นช่วงที่เกิดเคราะห์กรรมที่ต้องไปทำบุญ อุทิศส่วนกุศล กรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร ต่อชะตาชีวิต

“เบญจเพส” มีอายุเท่าไรบ้าง

ความเชื่อเรื่องเบญจเพส มีที่มาจากหลายแหล่ง ยังมีอยู่ในเรื่องเล่าเทศนาอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ 8 เรื่อง อายุวัฒนกุมาร

อภิวาทนสีลิสฺส   นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.

ธรรมบทนี้ให้ข้อคติสอนใจความหมายว่า เมื่อเจริญอายุมากขึ้น ก็ยังคงต้องทำกุศล เพราะกุศลที่ได้ทำในวันนี้ ส่งผลให้อายุที่ล่วงเลยผ่านมาแล้วในอดีต ได้รอดจากอันตราย 

อีกความเชื่อหนึ่งเล่าว่า อายุเบญจเพส เกี่ยวข้องกับเทวดาประจำตัว ในทุกๆ สิบสองปีครึ่ง เทวดาประจำตัวจะเปลี่ยนตามบุญกุศลที่เราได้ทำมา เทวดาประจำตัวจะเปลี่ยนเวรกันมาดูแลเราในช่วงอายุ 12.5 ปี, 25 ปี, 37.5 ปี, 50 ปี ไปจนถึงสิ้นอายุขัย และเทวดาเหล่านี้จะคอยปกปักคุ้มภัยเราแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการทำบุญกุศลช่วยนำ ถ้าเราอยู่ในศีล อยู่ในคุณธรรมที่ดี ก็มีเทวดาอนุเคราะห์ พระไตรปิฎกยังกล่าวว่า นอกจากเทวดาที่มาปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว ยังมีเทวดาที่เป็นญาติพี่น้อง ที่ใกล้ชิด ดูแลเราด้วย ดังนั้นการทำบุญต่างๆ จึงต้องกล่าวคำอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดา ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงเจ้ากรรมนายเวร

ความเชื่อ “เบญจเพสอายุ 25 ปี” คือช่วงที่หนักสุดในชีวิต

ความเชื่อเรื่องเบญจเพสอายุ 25 ปี มีมากกว่าช่วงอายุอื่น เพราะว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต พร้อมที่จะเรียนรู้และก้าวออกไปปฏิบัติตามกฎระเบียบของโลก และการจะผ่านช่วงอายุเบญจเพส 25 ปีนี้ไปได้ตามหลักธรรมะ คือต้องเป็นผู้ที่รักษาศีล ทำมาหากินด้วยความสุจริต ขยันขันแข็ง และถวายกุศลแก่เทวดา เพื่อให้เทวดาผู้คุ้มครองเราเมตตา อนุเคราะห์ ช่วยระงับนายเวร เหตุภัยที่จะเข้ามาแทรก

เบญจเพสมีความเชื่อว่าอาจเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

เบญจเพสถือเป็นวิกฤติชีวิตที่ต้องก้าวข้าม และผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปให้จงได้ จากคำกล่าว คำเล่าต่อๆ กันมา ปัญหาและเคราะห์กรรมที่มักเกิดขึ้นกับวัยเบญจเพส ได้แก่

เจ็บไข้ได้ป่วย มีปัญหาด้านสุขภาพ

ประสบอุบัติเหตุขณะเดินทาง

ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน

ไม่ประสบความสำเร็จในการงาน

มีปัญหาครอบครัว ชีวิตคู่มีปัญหา

มีปากเสียงกับเพื่อน ญาติพี่น้อง

กิจการค้าขาย ไม่ราบรื่น

การเงินมีปัญหา ต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้

นับอายุ เบญจเพส 2566 หมายถึงใครบ้าง

คนที่มีอายุครบเบญจเพส 25 ปี ใน พ.ศ. 2566 คือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2541

นับอายุ เบญจเพส 2567 หมายถึงใครบ้าง

คนที่มีอายุครบเบญจเพส 25 ปี ใน พ.ศ. 2567 คือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2542

นับอายุ เบญจเพส 2568 หมายถึงใครบ้าง

คนที่มีอายุครบเบญจเพส 25 ปี ใน พ.ศ. 2568 คือผู้ที่เกิดในปี พ.ศ. 2543

เบญจเพส อายุ 25 ปี ชาย-หญิง มีวิธีรับมือตามความเชื่ออย่างไร

จากความเชื่อเรื่องเบญจเพส เมื่ออายุ 25 ปี ถือเป็นช่วงที่หนักสุด เชื่อว่าผู้ที่อายุเข้าเกณฑ์ ควรไปทำบุญต่อชะตาชีวิต ด้วยการบริจาคเงินซื้อโลงศพให้แก่ศพไร้ญาติ รวมถึงการทำบุญบริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาล บริจาคเลือดที่สภากาชาด เพื่อต่อชะตาชีวิตผู้อื่น นอกจากนี้ก็มีผู้ที่เดินทางไปไหว้พระขอพรตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเสริมดวงชะตาในวันเกิด มีความเชื่อว่าการหมั่นทำบุญทำทาน จะช่วยให้เจ้าของชะตา ได้มองเห็นทางออกของปัญหา และมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น