วิธีปักตะไคร้ คติโบราณเพื่อไล่ฝนงานอีเวนต์กลางแจ้ง

วิธีปักตะไคร้ เป็นความเชื่อโบราณของคนรุ่นก่อนที่ใช้สำหรับไล่ฝน แม้ว่าลมฟ้าอากาศจะเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ แต่เพื่อการจัดงานกลางแจ้งให้ราบรื่น จึงมักเรียกสาวพรหมจารีไปท่องคาถาปักตะไคร้ทำพิธี ความเชื่อนี้อยู่คู่กับคนไทยมาทุกภูมิภาค แม้ว่าบางแห่งจะใช้วิธีการอื่นไล่ฝน แต่ก็มักมีเรื่องของหญิงสาวมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย มาดูวิธีทำให้ฝนหยุดตามความเชื่อคนไทยรุ่นก่อน โปรดใช้วิจารณญาณในการพิจารณา

วัตถุประสงค์ของการปักตะไคร้ไล่ฝน เพื่อต้องการห้ามลม ห้ามฝน ไม่ให้ตกในช่วงที่จัดงานพิธีต่างๆ ทั้งงานบวช งานบุญ งานแต่ง งานจัดเลี้ยงกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นพิธีมงคลของชาวบ้าน หรือการจัดงานอีเวนต์แบบสากล ทางผู้จัดที่ไม่ต้องการให้ฝนตกสร้างความเสียหาย ก็มักใช้วิธีปักตะไคร้เพื่อสร้างความอุ่นใจขึ้นมาบ้าง

หากสอบถามกับผู้สูงอายุ หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวก็อาจจะเคยได้ยินประสบการณ์ใช้หญิงสาวพรหมจารีปักตะไคร้มาบ้าง แต่วิธีการห้ามลมห้ามฝนของแต่ละจังหวัดก็แตกต่างกันไป

วิธีปักตะไคร้

ใช้ตะไคร้ 3 ต้น หรือ 7 ต้น โดยตัดยอดออก เพื่อใช้ส่วนใบที่แข็ง ปักลงดินเพื่อให้โคนต้นตะไคร้ชี้ฟ้า

ให้สาวพรหมจารีเป็นคนทำพิธี

โดยลักษณะของสาวพรหมจารีต้องมีคุณสมบัติ 5 อย่าง ได้แก่

1. ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์

2. ไม่อยู่ในช่วงมีรอบเดือน

3. เป็นหญิงสาวที่ไม่ใช่เด็ก (หญิงสาวที่เคยมีประจำเดือนแล้ว) อายุไม่เกินช่วงวัยเบญจเพส

4. เป็นหญิงสาวที่อยู่ในศีลในธรรม

5. เป็นหญิงหม้ายที่ถือพรหมจรรย์

ทำไมต้องให้ผู้หญิงเป็นผู้ปักตะไคร้ หรือทำพิธีห้ามฝน

ตามความเชื่อของคนสมัยก่อน ได้ยกย่องเพศหญิงเป็นเพศที่เกี่ยวข้องกับเทพยดาที่คุ้มครองผืนดิน ผืนน้ำ เช่นการเรียกเทพที่คุ้มครองแผ่นดินว่า “พระแม่ธรณี” หรือเรียกเทพที่คุ้มครองผืนน้ำว่า “พระแม่คงคา” จึงเชื่อว่าเพศหญิงเป็นเพศที่มีพลังศักดิ์สิทธิ์ และการเลือกผู้หญิงบริสุทธิ์ เชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความดีงาม

ทำไมต้องใช้ตะไคร้กลับด้าน

ไม่มีใครทราบว่าพิธีปักตะไคร้ไล่ฝนนั้นใครเป็นคนคิด บ้างก็คาดว่ามาจากพิธีชาวกะเหรี่ยง หรือเป็นความเชื่อจากพราหมณ์ แต่การใช้ตะไคร้ เพราะเป็นพืชหาง่าย และเมื่อปักหันโคนขึ้น เป็นการฝืนธรรมชาติ เป็นกุศโลบายเพื่อห้ามลมห้ามฝน

คาถาปักตะไคร้

เมื่อเลือกสาวพรหมจารี และเตรียมต้นตะไคร้พร้อมแล้ว คณะผู้จัดงานก็จะพาหญิงสาวไปบริเวณที่เหมาะสมเพื่อปักตะไคร้ ด้วยการท่องคาถา ดังนี้

ตั้ง นะโม 3 จบ

กล่าวตั้งจิตอธิษฐาน “อากาเสจะ พุทธทีปังกะโร นะโมพุทธายะ”

ข้าพเจ้า และคณะผู้จัดงาน (กล่าววัตถุประสงค์จัดงาน) ขอเทพยดาและพระภูมิเจ้าที่ ช่วยสนับสนุนค้ำจุน ให้ (วันที่) ไม่มีฝนตกใน (สถานที่) และขอให้สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการรองรับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานด้วยเทอญ.

หลังจากกล่าวเสร็จแล้ว ให้ยกต้นตะไคร้ขึ้น และกล่าว “ขอบารมีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทวดาอารักษ์ ได้โปรดดลบันดาลให้ฝนไม่ตก ให้ท้องฟ้าเปิดสว่างไสว ให้ฝนไปตกที่อื่นตามคำขอด้วยเทอญ”

แม้ว่าเราอาจจะเคยได้ยินเรื่องพิธีกรรมปักตะไคร้ แต่ว่าจะ “สำเร็จ” หรือ “ไม่สำเร็จ” ก็ไม่เคยมีใครเก็บสถิติเอาไว้ เรื่องนี้เคยมีคนพูดถึงกันในเว็บบอร์ดพันทิป ในหัวข้อ “สาวๆ คนไหนเคยมีประสบการณ์ปักตะไคร้บ้างไหมคะ” โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นน่าสนใจ เช่น

“ตอนมหาลัย ทำกิจกรรมรับน้อง ผมให้เพื่อนผญที่เป็นคนสุดท้องและจิ้นเป็นคนปักตะไคร้ ผลคือฝนไม่ตกครับทั้งๆที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนมานาน”

“ที่บ้านเป็นโรงเรียนสอนรำ จะต้องจัดงานไหว้ครูช่วงเดือนตุลาคมทุกปี ก็ต้องทำพิธีปักตะไคร้ทุกปี คนปักก็ไม่ใช่ใคร คุณย่า ปักตั้งแต่สาวจนตอนนี้อายุ 80 ปี เวอร์จิ้นมาจนถึงตอนนี้”

“..สมัยเรียน ป.ตรี ไปทำค่ายที่จังหวัดตาก ต้องเทปูนให้เสร็จ ฝนตั้งเค้ามา เราเห็นท่าไม่ดีก็ชวนเพื่อนไปปักตะไคร้ ไม่มีใครรู้ ทำกันเอง แอบไปปัก สักพักฝนหายหมด แดดเปรี้ยง ได้ผลแฮะ..แต่ๆๆ ประเดี๋ยวหนึ่งหลังทำงานได้เกือบเสร็จ เมฆมาใหม่ ฝนเริ่มปรอย ทำไมมันไม่ได้ผล ปรากฏเห็นชาวบ้านไปด้อมๆ ดุ่มๆ เดินเก็บพืชผัก สงสัยจะเอาตะไคร้เราไปเลย”

วิธีปักตะไคร้ คติโบราณเพื่อไล่ฝนงานอีเวนต์กลางแจ้ง

คาถาไล่ฝนอื่นๆ

นอกจากวิธีปักตะไคร้แล้วยังมีคาถาอื่นๆ ที่เล่าลือกันว่าเป็น คาถาไล่ฝน โดยสมเด็จพระศรีสมโพธิ์ราชครู มีตำนานดังนี้

สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ราชครู เป็นพระภิกษุสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช่วงกรุงแตก มีตำนานที่เก่ียวข้องกับท่านว่าท่านเป็นพระภิกษุที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าช่วงกรุงแตก พร้อมกับครอบครัวของท่าน พอทราบว่าพระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราชสร้างเมืองได้ ท่านก็กลับเมืองไทยพร้อมน้องสาว โดยระหว่างทาง เมื่อต้องพักค้างแรม ก็ใช้มีดอีโต้ที่น้องสาวพกมา วางคั่นกลางเอาไว้ ทำเช่นนี้มาเรื่อยจนถึงกรุงธนบุรี เมื่อท่านถูกสอบสวนเพราะเป็นพระสงฆ์ที่เดินทางมาพร้อมกับหญิงสาว ท่านจึงเสี่ยงทายว่าถ้าท่านบริสุทธิ์ ขอให้มีดอีโต้นี้ไม่จมน้ำ เมื่อท่านโยนอีโต้ลงน้ำ มีดก็ลอยน้ำขึ้นมาเป็นอัศจรรย์แก่ชาวบ้าน หมดข้อครหา

หลังจากนั้นก็มีการลือถึงคาถาห้ามฝนของท่าน โดยมีวิธีสวดตามกำลังของวัน เริ่มต้นสวดนะโม 3 จบ และสวดบทไตรสรณคมน์ท่องคาถาดังนี้

“สิทธิ พุทธะ จะ อุตตะมะ สิทธิ ธัมมา เทวะ สังฆา สัพพะ มหาวิชา คาถา สิทธิสาวัง พุทธัง ประสิทธิเม ธัมมัง ประสิทธิเม สังฆัง ประสิทธิเม สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ราชครู ประสิทธิเม พระขรัวอีโต้ประสิทธิเม”

วันอาทิตย์ 6 จบ วันจันทร์ 15 จบ วันอังคาร 8 จบ วันพุธกลางวัน 17 จบ วันพุธกลางคืน 12 จบ วันพฤหัสบดี 19 จบ วันศุกร์ 21 จบ และวันเสาร์ 10 จบ

อย่างไรก็ดีพิธีกรรมปักตะไคร้ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล หากเกิดต้องทำพิธีไล่ฝนก็เลือกพื้นที่ปัก ตั้งจิตอธิษฐาน แต่หากทำพิธีในเดือนที่มีเมฆฝนเยอะ ก็ติดตามข่าวสารจากพยากรณ์กรมอุตุฯ ไว้ด้วย เพื่อความแม่นยำแบบวิทยาศาสตร์อีกทาง