คนรุ่นใหม่ไกลธรรมะ ความเชื่อเพราะเข้าถึงยากหรือพุทธพาณิชย์เยอะไป

เปิดใจ อาชีพไวยาวัจกร ณัฏฐกิตติ์ ชัยเฉลิมมงคล หรือ Buddhist-Hero กับเรื่องเล่ามุมมองผ่านอาชีพที่อยู่ในแวดวงพระพุทธศาสนามานาน

หลายครั้งที่วงการสงฆ์ก็มักถูกตั้งคำถามจากคนวงนอกว่า พระพุทธศาสนาเสื่อมลงจริงไหม พุทธพาณิชย์มากเกินไปหรือเปล่า คนรุ่นใหม่ไม่สนใจหลงลืมธรรมะไปนานแล้วใช่ไหม ทุกคำถามมีคำตอบ จากไวยาวัจกร ณัฏฐกิตติ์

ไวยาวัจกร คือ

ตัวแทนของพระภิกษุ ในทางปฏิบัติแล้ว ‘ไวยาวัจกร’ เปรียบเสมือน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสฝ่ายฆราวาส ที่จะต้องคอยรับใช้ สนองงานในสิ่งที่ท่านเจ้าอาวาส วัดธาตุทองมอบหมาย ผมเองเป็นคนไม่มีโปร์ไฟล์แต่ด้วยความที่ผมรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อและเป็นคนรุ่นใหม่ หลวงพ่อท่านเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์จึงให้มาช่วยตรงนี้

หลายคนอาจจะคิดว่าวัดธาตุทองเด่นเรื่องงานเผาศพหรืองานสวด แต่จริงๆ แล้ว วัดธาตุทองเด่นเรื่องการศึกษา เด่นเรื่องสังคมสงเคราะห์ เพราะภายในวัดธาตุทองนอกจากเขตพุทธาวาส และสังฆาวาสแล้ว ยังประกอบด้วยหน่วยงานอื่นๆ มีทั้งโรงพยาบาล มีสถานศึกษา ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และก็มีศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมด้านอาชีพโดยเฉพาะ

ก่อนที่ผมจะเรียนทางด้านพุทธศาสนา ผมก็เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ประกอบกับก่อนที่ตัดสินใจเรียนปริญญาโทไม่นาน ผมก็ได้รู้จัก พระอโสโกภิกฺขุ (กากัน มาลิค) อดีตนักแสดงหนุ่มชาวอินเดีย จึงได้เข้าไปสัมผัสพุทธศาสนาที่ไม่ใช่พุทธศาสนาในเมืองไทย ไปดูวิถีของคนอินเดีย

จุดเริ่มต้นงานถ่ายทอดศาสนาพุทธ

มาจากตอนที่ผมไปอินเดีย คือ ผมเข้าใจมาตลอดว่าอินเดียเป็นเมืองพุทธ พอได้เข้าไปสัมผัสจึงทำให้รู้ว่าแต่ก่อนมี ดร.อัมเบ็ดการ์ ซึ่งผมมองว่าเขาเป็นฮีโร่ของพระพุทธศาสนา เพราะศาสนาพุทธเคยหายไปจากอินเดีย วันดีคืนดี ดร.อัมเบ็ดการ์ พาคนฮินดูประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ เหมือนการปั๊มหัวใจให้วงการศาสนาพุทธในอินเดียอีกครั้ง

แต่ก็ยังไม่เจริญถึงขีดสุด ศาสนาพุทธต้องการการช่วยเหลือ ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้าผมได้ทำอะไรช่วยได้บ้างก็จะเป็นบุญอย่างหนึ่ง เพราะคนที่เกิดในเมืองไทยชินกับการทำบุญ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าข้อต่อไปนี้คือ ทำอย่างไรให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ถ้าใครทำได้ก็จะเป็นบุญมาก

รางวัล ‘ผู้นำโลกรุ่นใหม่ สาขาสันติภาพ’

หลังจากที่ผมเปิดตัวว่าเป็นนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางพุทธศาสนา คือคำว่า นักกิจกรรมทางพุทธศาสนา นั้นมันกว้างมากเพราะรวมถึงการเคลื่อนไหว การฟื้นฟู กิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีวาระแอบแฝงนั่นคืองานที่ผมอยากทำ

พระพุทธรูปไทยแฝงคำสอน

ครั้งหนึ่ง กากัน ถามผมว่า ทำไมเมืองไทยไม่ทำพระพุทธรูปให้เหมือนมนุษย์ ทำไมพระพุทธรูปไม่มีกล้าม ไม่มีเส้นเลือด ไม่มีความเป็นผู้ชายเลย ซึ่งผมค้นคว้าข้อมูลแล้วมารู้ภายหลังว่ามันเป็นเทคนิคของคนโบราณที่จะไม่ให้รู้สึก

เพราะพระพุทธเจ้าท่านมีพระประสงค์เองว่าไม่ให้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา ให้คนกราบสักการะบูชา ไม่ว่าจะเหตุผลใด

โดยบทบัญญัติว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่มนุษย์แต่มีความเป็นมนุษย์ เอาง่ายๆ มนุษย์ทั่วไปที่ไหนจะมีนิ้วทั้ง 5 ยาวเท่ากันหมด หูยาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นคำสอน

อย่างเช่นหูยานก็จะสอนว่าต้องหนักแน่น อย่าหูเบา ทำไมพระเกศต้องแหลม ซึ่งมันคือข้อบ่งบอกว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ทำไมตาต้องมองต่ำ ซึ่งการมองต่ำคือการพิจารณาตนเอง หลายๆ เป็นปริศนาธรรมที่ต้องพิจารณา

แต่ศิลปศาสตร์ของการปั้นพระพุทธรูป สมัยนี้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างเช่นตอนนี้อาจจะเริ่มชอบพระพุทธรูปที่มีสัดส่วนของความเป็นมนุษย์มากขึ้น อย่างยุครัตนโกสินทร์ก็จะมีการปั้นพระพุทธรูปที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น อันนี้คือสาเหตุที่ว่าทำไมพระพุทธรูปของไทยจึงแตกต่างจากประเทศอื่นมาก

สะพานบุญ Buddhist-Hero?

เริ่มแรกผมไปกับกากัน ที่อินเดียคนก็จะเริ่มจำผมได้ ว่า กัปตัน ณัฏฐกิตติ์ อยู่ประเทศไทย เป็นชาวพุทธที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธมาก เราแค่รู้สึกว่าเราเป็นนักกิจกรรมมาโดยตลอด อย่างพระท่านอยากได้ผ้าไตรจีวรเพื่อนำไปบรรพชาสามเณรสัก 100 ชุด กลับมาเมืองไทยเราก็เป็นสะพานบุญคุยกับเพื่อนที่ไทยว่า ที่อินเดียเขาจะบรรพชาเณรไม่ทราบว่าคนไทยสนใจไหม? ปรากฏว่าในเวลาอันรวดเร็วเราสามารถรวบรวมผ้าไตรร้อยผืนได้ตามที่เขาต้องการ และเราก็สามารถส่งให้เขาได้เลย เขารู้สึกว่านี่คือสะพานบุญที่ดีมาก

พระพุทธศาสนาสร้างชีวิต

ผมโตมากับบ้านที่มักจะพาผมเข้าวัดทำบุญ ก็เลยผูกพันกับศาสนาพุทธมาโดยตลอด เวลาเห็นวัดสวยๆ ก็อยากเข้าไปไหว้พระประธาน อยากไปกราบหลวงพ่อ ส่วนวัดธาตุทอง เป็นวัดที่ผมเข้าไปตั้งแต่เด็ก คุณป้าพามาบ้าง คุณแม่พามาบ้าง ผมก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ตอนนั้นรู้แค่ว่าต้องมาวัด ต้องมาทำบุญกับหลวงพ่อชุบ (หลวงพ่อชุบ พระราชวรญาณโสภณ เจ้าอาวาสวัดธาตุทอง)

เหตุผลเลือกทางธรรม?

ช่วงหนึ่งทำอะไรติดๆ ขัดๆ เรียกได้ว่า เส้นทางทางโลกไม่สะดวก แต่พอประสานงานทางธรรม โล่งไปหมด ก็เลยคิดว่าเราอาจจะเกิดมาเพื่อทำงานให้พระพุทธศาสนา

ธรรมะกับคนรุ่นใหม่

ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่น้อยคนจะได้เรียนรู้ คือบทเรียนการล่มสลายของศาสนาในประเทศอินเดีย ถามว่าศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมากๆ ทำไมถึงล่มสลายไป มันเกิดจากการล่าอาณาจักรโดยชนชาติศาสนาอื่น จนศาสนาพุทธได้เสื่อมสลายหายไปจากประเทศอันเป็นต้นกำเนิด

ประเด็นที่สองคือยุคหลังของศาสนาพุทธในอินเดีย พระภิกษุเริ่มกลับมาค้นหาตัวเองมากขึ้น มุ่งนิพพาน ปิดช่องทางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทำให้ศาสนาเล็กลงๆ เรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งคือการรับเอาศาสนาอื่นมาผสมกับศาสนาพุทธ เกิด ตันตระวัชรยาน (คือมุ่งเน้นอย่างอื่นด้วยไม่ใช่แค่หลักธรรม) ซึ่งมีอะไรหลายๆ อย่างมามิกซ์กัน ซึ่งผมมองว่าถ้าวันนี้ไม่มีการเผยแพร่ศาสนาออกไป ต่อไปมันก็จะน้อยลงๆ และเสื่อมสลายไปในที่สุด

ตอนนี้กำลังจะถึงจุดนั้น เพราะศาสนามันน้อยลง เยาวชนห่างธรรมะมากขึ้น ถามว่าธรรมะเข้าใจยาก หรือการถ่ายทอดวิชาพุทธศาสนามันน่าเบื่อมากหรือเปล่า อย่างผมตอนนั้นเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ได้อะไรบ้าง หลับ เพราะวิชา พุทธศาสนา คือวิชาที่ง่วงนอนที่สุด การเรียนพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องสนุก หรือน่าสนใจอีกต่อไป เป็นสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ห่างเหินศาสนา

พุทธพาณิชย์มากขึ้น-ศาสนาเสื่อมลง?

ถ้าพูดกันตามหลักการ ศาสนาพุทธในประเทศไทย ไม่ใช่ศาสนาพุทธเพียง 100 เปอร์เซ็นต์ ยุคแรกของประเทศไทยไม่มีศาสนา สมัยก่อนเขานับถือผี ผีปู่ ผีย่า ผีบรรพชน นับถือดินฟ้าอากาศ ยุคต่อมาของสุวรรณภูมิ ก็คือซึมซับเอาฮินดูเข้ามา ฮินดูคือเทพเจ้า พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ การปกครองก็เป็นแบบให้องค์กษัตริย์คือองค์สมมติเทพ ที่เรียกกษัตริย์พระรามาธิบดีที่ 1 ก็คือ พระราม นั่นเอง

ต่อมาศาสนาพุทธก็ได้แผ่กระจายเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งสุดท้ายทั้ง 3 ความเชื่อก็ถูกเบลนด์ ผสมรวมกันเป็นวิถีพุทธแบบที่ไม่เหมือนใคร คือปนกันไปหมด กลายเป็นว่า วันนี้ในบ้านชาวพุทธ ก็จะมี 2 ศาล คือ ศาลพระภูมิ เป็นศาสนาฮินดู มีศาลตายาย ซึ่งเป็นความเชื่อศาสนาผี

อย่างไรก็ตาม ส่วนคำว่าพุทธพาณิชย์นั้น ถ้าหมายถึงเหล่าบรรดาวัตถุมงคลนั้น ส่วนตัวผมมองว่าสิ่งเหล่านี้คืองานศิลปะ เป็นพุทธศิลป์ ที่บอกเล่าเรื่องราว วิถี วัฒนธรรม ของแต่ละยุคแต่ละสมัย บ้างก็สะสมเก็บเพราะความเชื่อในพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ หรือเพื่อรำลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ และมีแม้กระทั่งที่ทำเป็นธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราว เรื่องนี้มีหลายมุมมอง อยู่ที่เราจะมองด้านไหนมากกว่า.