ชี้พิกัด 5 สถานที่ไหว้เจ้าตรุษจีน 2566 แก้ชง เสริมดวงชะตาชีวิต

ตรุษจีน 2566 ชี้พิกัด 5 ศาลเจ้าในกรุงเทพฯ สำหรับให้สายบุญเตรียมตัวไปไหว้ขอพรเทพเจ้า แก้ชงเสริมดวงตามความเชื่อ ต้อนรับเทศกาลมงคลของคนไทยเชื้อสายจีนสถานที่ไหว้พระและไหว้เจ้าตรุษจีน 2566 มีที่ไหนบ้าง ติดตามจากบทความนี้

ชี้พิกัด 5 สถานที่ไหว้เจ้าตรุษจีน 2566 แก้ชง เสริมดวงให้ชีวิต

การไหว้พระขอพร หรือไหว้เทพเจ้าเสริมดวงชะตาตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนในช่วงวันตรุษจีน 2566 ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดี ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะหลายๆ คน ที่มีความเชื่อทางโหราศาสตร์จีนเกี่ยวกับ “ปีชง” ก็อาจจะนิยมเดินทางไปไหว้เจ้าตรุษจีน 2566 เพื่อฝากดวงชะตาให้เทพเจ้าช่วยคุ้มครอง ผ่อนเคราะห์กรรมหนักให้กลายเป็นเบาตามความเชื่อของแต่ละบุคคลได้เช่นกัน สำหรับศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนมักไปกราบไหว้ขอพร มีดังนี้

ตรุษจีน 2566

1. วัดเล่งเน่ยยี่

วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดคณะสงฆ์จีนนิกายที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในย่านเยาวราช หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัดมังกรกมลวาส” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 ภายในประดิษฐานพระสำคัญ 3 องค์ ได้แก่ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ และพระไภษัชยคุรุพุทธะ อีกทั้งยังมีเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ตามความเชื่อของชาวจีน โดยเฉพาะ “ไท้ส่วยเอี๊ย” หรือเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา ที่ผู้ศรัทธานิยมไปสักการบูชา แก้ชง และกราบไหว้ขอพรเสริมมงคลชีวิตในช่วงวันตรุษจีนของทุกปี

พิกัด :  423 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

เปิดให้เข้าชม : เวลา 07.00-18.00 น.

2. ศาลเจ้าพ่อเสือ

บริเวณใกล้กับเสาชิงช้ามีศาลเจ้าพ่อเสือ โดยเป็นที่ประดิษฐานของ “เอี่ยนเทียนส่งเต่” รวมถึงองค์เจ้าพ่อกวนอู องค์เจ้าแม่ทับทิม โดยชาวจีนเชื่อว่าเทพเจ้าเสือเป็นเทพแห่งการปกป้องคุ้มครอง เพื่อขับไล่เสนียด ศัตรู หรือวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มาทำอันตราย สำหรับผู้ที่มาสักการะเจ้าพ่อเสือ จะนิยมใช้ชุดปัดตัวสะเดาะเคราะห์ ซึ่งเป็นกระดาษยันต์ที่ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ โดยภายในศาลเจ้าพ่อเสือ จะมีคำแนะนำถึงวิธีการใช้อย่างถูกต้อง

พิกัด : 468 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพฯ

เปิดให้เข้าชม : เวลา 06.00-17.00 น.

3. ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว (วัดสามจีน)

เรียกได้ว่าเป็นศาลเจ้าพ่อเห้งเจียที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 กลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาในช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนไทยเชื้อสายจีน รวมถึงยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาสักการะไม่ขาดสาย ภายในศาลแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพเจ้าพ่อเห้งเจีย องค์แกะสลักไม้โบราณ นั่งปางขัดสมาธิ ซึ่งถือเป็นปางสำเร็จอรหันต์ตามความเชื่อแบบมหายาน ส่วนใหญ่ผู้ศรัทธามักเดินทางไปกราบไหว้ขอพรในสิ่งที่ปรารถนา โดยเฉพาะความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และการค้าขายให้มีกำไร ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง

พิกัด : 66 ถนนพระราม 4 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

เปิดให้เข้าชม : เวลา 06.00-16.30 น.

4. ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

เชื่อกันว่าองค์ไต้ฮงกง เดิมเป็นพระภิกษุชาวจีนโบราณที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ ท่านเป็นผู้มีจิตเมตตา ช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก รวมถึงทำสาธารณประโยชน์ เช่น สอนหนังสือ สร้างสะพาน ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยยากไร้ รวมถึงริเริ่มการบำเพ็ญกุศลให้แก่ศพไร้ญาติ (เป็นที่มาของชื่อคณะเก็บศพไต้ฮงกง ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”) ทำให้ได้รับการเคารพนับถือเป็นอย่างมาก เมื่อชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากในประเทศไทย ก็นำความเคารพบูชาที่มีต่อองค์ไต้ฮงกงติดตัวมาด้วย นำมาสู่ความศรัทธาในการประดิษฐานรูปจำลององค์ไต้ฮงกงย่านถนนพลับพลาไชยในปัจจุบัน

พิกัด : 326 ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

เปิดให้เข้าชม : เวลา 08.30-17.00 น.

5. ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

มูลนิธิเทียนฟ้าเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวจีน 5 ภาษา เมื่อ พ.ศ. 2445 เพื่อก่อตั้งสถานที่สงเคราะห์สำหรับผู้ยากไร้ โดยมีการอัญเชิญรูปเคารพขององค์เจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตจ์อวโลกิเตศวร ศิลปะแบบราชวงศ์ถัง เป็นไม้แกะสลักปางประทานพร มาประดิษฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศาลเจ้าแม่กวนอิมก็กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้บูชาขอพรเพื่อเสริมสิริมงคลในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงขอพรให้ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ

พิกัด : ใกล้วงเวียนโอเดียน (ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ) ถนนเยาวราช แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากการไหว้เจ้าตรุษจีน 2566 ก็ยังมีวิธีทำบุญเสริมดวงชะตาด้วยวิธีอื่นๆ ที่เชื่อว่าเป็นการเสริมมงคลและได้ทำทานสร้างกุศลไปในตัว เช่น การทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ บริจาคโลหิต บริจาคโลงศพ ช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ตกทุกข์ได้ยาก รวมไปถึงการปฏิบัติธรรม เจริญสติให้จิตใจผ่องใส